วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทำอย่างไรเมื่อพบเห็นการล่วงละเมิด


 ปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมทุกวันนี้มีการใช้ความรุนแรงอยู่ทั่วไป ทั้งในครอบครัว ในที่ทำงาน ในจอทีวี หรือแม้แต่บนท้องถนน ผู้ที่เคยประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าวย่อมรู้ซึ้งถึงความน่ากลัวของการใช้ความรุนแรงได้เป็นอย่างดี แต่ก็เป็นเรื่องน่าเสียใจที่หลายครั้งของการเกิดเหตุการณ์รุนแรงนั้น เกิดขึ้นโดยปราศจากความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ที่บ้างก็เมินเฉย บ้างก็มองดูอยู่ห่าง ๆ บ้างก็เดินหนีไม่อยากมีเรื่อง 
       
       แต่ถ้าลองนึกดูว่า หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคนที่เรารัก เช่น พ่อแม่ พี่สาวน้องสาว พี่ชายน้องชาย หรือลูก และเรามาทราบทีหลังว่า เขาต้องต่อสู้ตามลำพัง โดยไม่มีคนรอบข้างยื่นมือเข้าช่วยเหลือ เราจะรู้สึกเสียใจเพียงใดที่คนที่เรารัก ไม่ได้รับความช่วยเหลือต้องถูกทำร้ายจนบาดเจ็บหรืออาจจะเสียชีวิต
       
       นั่นจึงเป็นที่มาของวิธีรับมือเมื่อต้องเจอเหตุการณ์การล่วงละเมิดผู้อื่นในที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้ และหากยื่นมือมาช่วยกันมาก ๆ คนร้ายที่จ้องจะใช้ความรุนแรงก็จะได้ไม่มีโอกาสทำสิ่งที่เลวร้ายอีกต่อไป โดยอาจเริ่มจาก
       
       1. ตั้งสติก่อนลงมือช่วย
       
       เพราะการช่วยเหลือมีได้มากมายหลายวิธี แต่มันจะเป็นการช่วยเหลือที่ได้ผลดีก็ต่อเมื่อ ผู้ยื่นมือเข้าไปช่วยนั้นมีสติ และไม่กระทำการที่อาจส่งผลร้าย หรือทำให้สถานการณ์โดยรวมแย่ลง
       
       2. วิเคราะห์สถานการณ์ 
       
       สิ่งหนึ่งที่คนร้ายทุกคนไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเวลาที่ตนเองจะทำร้ายใครสักคนก็คือ การที่มีคนเห็น หรือมีคนเข้ามาช่วย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้น หากคุณพบเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้ และเข้าใจถึงสภาพจิตใจของคนร้ายดังนี้ คุณก็จะคิดหาวิธีช่วยเหลือ หรือพลิกแพลงวิธีช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อได้อีกมากมาย
       
       3. มองหาแนวทางที่ดีที่สุดและหยิบเอามาใช้อย่างชาญฉลาด
       
       รูปแบบการช่วยเหลืออาจแตกต่างกันไปตามแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น บางสถานการณ์ การตะโกนดัง ๆ ว่า "ไฟไหม้" อาจได้ผลดีกว่าการบอกว่ามีคนจะทำร้ายกัน เพราะการตะโกนว่าไฟไหม้นั้น สั้น ชัดเจน ได้ใจความ และเรียกความสนใจจากคนรอบข้างได้อย่างแน่นอน หรือหากเป็นการล่วงละเมิดบนรถโดยสารประจำทาง แค่ตะโกนดัง ๆ คนที่กระทำผิดก็อายและหนีไปแล้ว ดังนั้น เมื่อตั้งสติและพิจารณาสถานการณ์อย่างรอบคอบแล้ว การเลือกวิธีที่เหมาะสมในการช่วยเหลือยังสามารถช่วยให้ทุกคนรวมทั้งตัวผู้เข้าไปช่วยเองนั้นปลอดภัยอีกด้วย
       
       4. อย่าเลียนแบบ"ละครไทย"เด็ดขาด
       
       โดยแง่คิดสำหรับกรณีนี้ก็คือ การไม่คิดว่าตัวเองคือพระเอกเหมือนในละคร ที่เข้าไปยุติสถานการณ์ด้วยการชกโครมหรือเตะป้าบหนึ่งแล้วคนร้ายก็ผละหนีไป (นั่นมันน้ำเน่าสุด ๆ และมีอยู่จริงแค่ในละครไทยเท่านั้น) การช่วยเหลือที่ดีควรเป็นการช่วยโดยที่ไม่ทำให้ตนเองตกเป็นเหยื่อเสียเอง เพราะนั่นจะทำให้คุณสามารถช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อได้อย่างปลอดภัย และหากจำเป็น หรือเห็นว่ามีการใช้อาวุธ ก็ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ
       
       5. บันทึกหลักฐาน
       
       อีกหนึ่งความช่วยเหลือที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การบันทึกภาพเหตุการณ์ไว้เป็นหลักฐานด้วย เพราะภาพเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้สามารถเป็นหลักฐานอย่างดีของผู้เสียหายในการมัดตัวคนร้ายที่กระทำรุนแรงนั่นเอง...



โพลสวนดุสิต ย้ำ ปัญหาอาจารย์ลวนลาม นศ. และการให้เกรดไม่เป็นธรรม มีจริง โดยความไม่เป็นธรรมเรื่องเกรด มีถึง 32.52% ขณะครูพฤติกรรมลวนลาม นศ.3.44% “สุขุม” ชี้ ค่านิยมสังคมไทยยกย่องบูชาครู จึงไม่มีใครเชื่อว่ามีการกระทำลักษณะนี้ จี้ทุกฝ่ายเร่งแก้ 
       
       รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) เปิดเผยว่า จากกรณีกระแสข่าวความไม่เป็นธรรมกับนักศึกษา ทั้งกรณีการให้เกรดไม่เป็นธรรม การปฏิบัติตนของอาจารย์ต่อนักศึกษา และการล่วงละเมิดทางเพศ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกระแสสำคัญที่น่าใจอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ดังนั้น เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของนักศึกษา และเพื่อใช้เป็นแนวทางการป้องการแก้ไขในระยะยาว สวนดุสิตโพล มสด.จึงได้สำรวจความคิดเห็นนักศึกษาทุกระดับชั้นปี ทั้งรัฐ และเอกชน ในกรุงเทพและต่างจังหวัดรวม 1,513 คน ระหว่างวันที่ 9-14 มีนาคม 2555 โดยสอบถามในประเด็นต่างๆดังนี้
       
       นักศึกษาเคยได้รับความไม่เป็นธรรมในเรื่องใดบ้าง พบว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องผลการเรียน 32.52% ไม่เคย 67.48% การแสดงความคิดเห็นในห้องเรียน เคย 33.31% ไม่เคย 66.69% ความลำเอียงของอาจารย์ เคย 42.04% ไม่เคย 57.96% เพื่อนเคยได้รับความเป็นธรรมในเรื่องใดบ้าง พบว่า เคยได้รับความไม่เป็นธรรมเรื่องผลการเรียน 44.55% ไม่เคย 55.54% การแสดงความคิดเห็นในห้องเรียน เคย 41.97% ไม่เคย 58.03% ความลำเอียงของอาจารย์ เคย 45.47% ไม่เคย 54.53% เคยถูกอาจารย์แสดงพฤติกรรมต่างๆ ต่อไปนี้หรือไม่ พูดจ่าหยาบคาย เคย 25.78% ไม่เคย 74.22% ดูถูกเหยียดหยาม เคย 30.67% ไม่เคย 69.33% เยาะเย้ย/ถากถาง เคย 31.33%ไม่เคย 68.67% ลวนลาม เคย 3.44% ไม่เคย 96.56% ทั้งนี้ ผลสำรวจสะท้อนว่า ข่าวที่ออกมามีจริงในทุกสถาบันอุดมศึกษา ทั้งเรื่องการให้เกรดไม่เป็นธรรม และการลวนลามทางเพศ ซึ่งถ้ามีนักศึกษา 100 คน จะได้รับความไม่เป็นธรรมเรื่องการให้เกรดถึง 32 คน ถูกลวนลามถึง 3 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสถาบันการศึกษา
       
       “สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะสังคมไทยยังมีค่านิยมเรื่องบุญคุณ ยกย่องบูชาครู แม้จะบอกว่าคนที่ทำแบบนี้เป็นอาจารย์ ก็จะไม่ค่อยมีคนเชื่อ ขณะที่เราเองก็ปล่อยปละละเลยเรื่องนี้ไปนานโดยเฉพาะเมื่อเชื่อมโยงความไม่เป็นธรรมไปตั้งแต่ระดับมัธยมจะเห็นปัญหาที่แท้จริง โดยเฉพาะภาพของสังคมไทยเรื่องความไม่เป็นธรรมกับการใช้อำนาจ เพราะฉะนั้น จะต้องมีการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยต้องย้อนกลับมามองว่าสถานที่ผลิตครูว่าได้จัดกิจกรรมที่จะสร้างคนที่ เหมาะสมจะเป็นครูหรือไม่ มหาวิทยาลัยที่จะรับคนมาเป็นอาจารย์จะต้องมีการตรวจสอบประวัติ ที่มาที่ไป มีผู้ที่รับรองการทำงาน ดูแค่วุฒิการศึกษาอย่างเดียวคงไม่พอ และที่สำคัญมหาวิทยาลัยเองจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวด หากพบว่ามีอาจารย์ทำผิดจรรยาบรรณต้องไล่ออกทันที แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานปรากฏชัด แต่หากนักศึกษายืนยันก็สามารถลงโทษทางวินัยได้ ไม่ต้องคิดว่าเป็นการประจาน หรือทำให้เสียศักดิ์ศรีมหาวิทยาลัย เพราะหากไม่แก้ไขก็จะถือว่าเป็นการหมกเม็ด และหากจะไปหาเหตุผลหรือหลักฐานคงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากนักศึกษาที่ถูกกระทำก็ไม่กล้าแสดงออกเพราะอับอาย” ประธานสวนดุสิตโพล กล่าว...


ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ...
www.manager.co.th : 5 มิถุนายน 2555 11:29 น.
ภาพจาก Internet



1 ความคิดเห็น: