วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทิ้งสารพิษฉะเชิงเทรา พบสารก่อมะเร็งเกินมาตรฐาน


ทิ้งสารพิษฉะเชิงเทรา พบสารก่อมะเร็งเกินมาตรฐาน
โดย : ธนภัท กิจจาโกศล



   ทิ้งสารพิษตกค้าง 11 จุดทั่วฉะเชิงเทรา พบสารก่อมะเร็ง เกินมาตรฐาน 20-30 เท่า ปัญหาการกำจัดกากสารเคมีและสารพิษจากอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้อง กำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ที่มีผลกระทบกับสุขภาพและการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา หลังพบว่ามีการนำมาทิ้งกระจายทั่วทั้งจังหวัดมากกว่า 11 จุด จนเกิดการรั่วไหล ตกค้าง ปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ สำหรับอุปโภค-บริโภค จนสามารถตรวจพบสารก่อมะเร็งหลายชนิด เกินมาตรฐานเกือบ 20-30 เท่า

จนสาธารณสุขจังหวัดต้องประกาศห้ามใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติรอบบริเวณนั้น ๆ เกิดปัญหากลิ่นเหม็นรุนแรง กระทบต่อสุขภาพ พืชผลการเกษตรลดลง และสัตว์เลี้ยงตายโดยไม่ทราบสาเหตุ

บ่อลูกรังร้าง ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ที่บริษัท เคเอสดี รีไซเคิ้ล จำกัด ซื้อไว้และมีการลักลอบนำกากสารเคมีจากการนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี และพื้นที่อื่น มาทิ้งตั้งแต่วันที่ 20 กพ.2555 กระทั่งสร้างความเดือนร้อนให้ชาวบ้านในพื้นที่จากกลิ่นเหม็นรุนแรง นำไปสู่การรวมตัวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกว่า 3,000 คน ร้องเรียนผ่านหน่วยงานราชการ เช่น กรมโรงงานอุตสหกรรม จังหวัด กรมควบคุมมลพิษ สำนักนายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) 

จนนำไปสู่การตรวจสอบการลักลอบทิ้งกากสารเคมีในพื้นที่ทั้งหมด พบว่า มีการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมมาทิ้งในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา จำนวนมากกว่า 11 จุด คือที่ อ.พนมสารคาม 6 จุด อ.แปลงยาว 5 จุด มีพื้นที่ขนาดตั้งแต่ 1 - 200 ไร่ และเกือบทั้งหมดอยู่ด้านเหนือของจังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่สูงกว่า หลังชาวบ้านร้องเรียนผ่านไปนานกว่า 2 เดือน ประกอบกับ มีการร้องเรียนจากชาวบ้านว่า มีการลักลอบปล่อยน้ำเสียหรือกากสารเคมี จากโรงงานรับบำบัดของเสียจากอุตสาหกรรมในพื้นที่ ลงสู่แหล่งน้ำในช่วงฤดูฝน จนมีการแพร่กระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว จนเริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง


สัตว์เลี้ยงออกลูกตายยกคอก พบน้ำใช้ปนเปื้อนสารฟีนอล


นางดวงเดือน ศรีมาลัย อายุ 44 ปี  อาชีพเลี้ยงหมู ระบุว่า การเลี้ยงหมูหลังมีวิกฤตการณ์ทิ้งกากสารเคมีและปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ พบว่า ผลการเลี้ยงหมูได้ผลผลิตตกต่ำมาก เพราะลูกหมูที่ออกมาส่วนใหญ่จะตายยกคอกจำนวนมาก โดยไม่ทราบสาเหตุ แม่พันธ์ที่มีลูกรอด จากที่เคยรอดแม่ละ 15-20 ตัว เหลือลูกที่รอดเพียง 4-5 ตัวเท่านั้น เราก็ไม่ทราบสาเหตุจนกระทั่งแจ้งให้ทางจังหวัดเข้ามาตรวจสอบ

"ผลการนำน้ำที่ใช้อยู่จากบ่อน้ำตื้นวงซีเมนต์ (ลึก 5-10 เมตร) มาตรวจพบสารฟีนอลและโลหะหนักปนเปื้อนเกินมาตรฐาน  คาดว่า สารเคมีเหล่านี้น่าจะมากับน้ำที่มีการปล่อยจากโรงงานกำจัดของเสีย  ซึ่งอยู่เหนือลำน้ำออกไป  ทุกวันนี้การเลี้ยงหมูอยู่ในขั้นขาดทุน  จำเป็นต้องใช้น้ำดังกล่าวอยู่ ก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนมาช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อน  ตอนนี้บ้านอยู่ใกล้จุดที่มีการเอากากสารพิษมาทิ้งที่สุดแค่ 1 กม.เศษ

นางดวงเดือน กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ลุงบ้านใกล้กัน มีอาชีพเลี้ยงปลา พยายามหาสาเหตุว่า ทำไมปลาที่เขาเลี้ยงไว้ตาย ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ กระทั่งมาเกิดเหตุเรื่องปัญหาชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อต้าน หลังได้รับผลกระทบเรื่องกลิ่นเหม็นมาก เจ้าหน้าที่สาธารณะสุขจึงนำน้ำไปตรวจและพบว่า มีสารปนเปื้อน ปัจจุบันลุงข้างบ้านได้ตายไปก่อนหน้านี้ โดยที่ไม่รู้ว่า ปลาที่แกเลี้ยงไว้ตายเพราะอะไร

   ส่วนนางละมุน กลิ่นนุช อายุ 55 ปี อาชีพทำสวนยาง  บอกว่า สวนอยู่ใกล้กับจุดที่มีการทิ้งสารเคมี ตอนแรกๆก็พบว่ามีการนำมาทิ้ง ได้พยายามไปทักท้วง แต่เขาชี้แจงว่า ทำถูกต้อง อบต.รู้ ไม่มีพิษ พอมาระยะหลังก็เกิดกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง จนทำงานกันไม่ได้ กลางคืนนอนแทบไม่ได้  คนงานกรีดยางไม่ยอมกรีดยางให้  ผลผลิตยางที่กรีดน้ำยางได้ก็น้อยกว่าเดิม

ด้านนายมานัส สวัสดี  อายุ 60 ปี ข้าราชการเกษียณ เจ้าของสวนยางในพื้นที่ ต.เกาะขนุน บอกว่า บริเวณสวนของตนเอง มีการกว้านซื้อบ่อไว้ใกล้ ๆ กับบ่อของตนเอง แล้วนำสารเคมีและกากอุตสาหกรรมไปทิ้ง รวมทั้งทิ้งลงไปในบ่อน้ำของตน ที่ขุดไว้สำหรับทำการเกษตรด้วย ปลาที่เลี้ยงไว้ตายหมด ซึ่งได้มีการแจ้งความไว้ เพื่อให้หาคนผิด  ส่วนปัญหาการทิ้งสารเคมีในพื้นที่ มันเกิดขึ้นมานาน โดยมีคนพื้นที่รู้เห็นด้วย ในฐานะเจ้าของสวน เห็นความแตกต่างชัดเจน ยางเคยกรีดได้รอบละ 60-70 แผ่น ปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 40 แผ่น  จะบอกว่าไม่มีผลกับต้นไม้ได้อย่างไร

" บริเวณ ต.หนองแหน มีการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อส่งออกประเทศญี่ปุ่นด้วยราว 200 ไร่ เชื่อว่า เมื่อสารเคมีเปล่านี้ไปเจอปน หรือกลายเป็นสารตกค้าง อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในอนาคตได้" นายมานัสกล่าว

   สารก่อมะเร็งเกินมาตราน 20-30 เท่า ลักลอบทิ้งลงแหล่งน้ำกว่า 7 ปี


นายสุนันท์ นิดร แกนนำชาวบ้าน ม.12 บอกว่า การทิ้งสารเคมีในพื้นที่ครั้งใหญ่เริ่ม 20กพ.2555  มีการนำรถบรรทุกกากสารเคมีมาลงติดต่อกัน จนทำให้รถบรรทุกติดกันเป็นแถวยาวกว่า 3 กม. ทิ้งทั้งวันทั้งคืน ในบ่อลูกลังเก่า เนื้อที่ประมาณ 10-15 ไร่ ช่วงระยะเวลา 3 เดือน จนส่งกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง จนชาวบ้านทนไม่ได้ต้องรวมตัวกันเพื่อต่อต้าน ถึงขั้นนำชาวบ้านกว่า 300 คนไปปิดบ่อ และยึดรถนำการสารพิษมาไว้ที่ สภ.หนองแหน จำนวน 2 คัน

"ชาวบ้านทำทุกอย่างตั้งแต่ร้องหน่วยงานท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด กรม กระทรวง ดีเอสไอ และสำนักนายกรัฐมนตรี ปัญหาการลักลอบนำของกากสารพิษมาทิ้งเกิดจาก บริษัทรับกำจัดสารพิษ รับงานไว้มากเกินไป เพื่อมาบำบัด แต่เมื่อบำบัดไม่ทันก็จะใช้วิธีการนำไปทิ้งในจุดต่าง ๆ  โดยเฉพาะการไปกว้านซื้อบ่อลูกลัง ซึ่งไม่มีราคา เพราะถูกขุดหน้าดินออกไปหมดแล้ว เพื่อไว้สำหรับนำสารเคมี กากอุตสาหกรรมเหล่านี้ไปทิ้งไว้ก่อน ส่วนที่บำบัดในโรงงานก็ทำไป บางครั้งก็ลักลอบปล่อยออกตามลำลางสาธารณะ แหล่งน้ำต่าง ๆ ด้วย" นายสุนันท์ กล่าวและว่า

   ชาวบ้านรวมตัวกันตั้งแต่ หมู่ที่ 6, 7, 8, 9 ,12 ,14 ต.หนองแหน และหมู่ 9, 12 ต.เกาะขนุน ที่ได้รับความเดือนร้อนโดยตรงกว่า 3000 คน อยู่ใกล้จุดที่มีการลักลอบทิ้ง จากประชากรทั้งหมด 10000 กว่าคน โดยครั้งที่รุนแรงที่สุดคือ วันที่ 8 กค.55 ชาวบ้านรวมตัวกันมากกว่า 300 คนไปปิดบ่อที่มีการนำกากสารเคมีไปทิ้ง และรวมตัวกันเป็นกลุ่มตัวแทนมาคอยตรวจสอบการเข้าออกของรถบรรทุกสารเคมี ว่า มีรถอะไรเข้ามาในพื้นที่บ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำสารเคมีเข้ามาทิ้งในพื้นที่อีก

   สำหรับแผนการแก้ปัญหากากสารพิษที่ถูกนำมาทิ้งในพื้นที่ หลังจากมีการร้องเรียนและกรมโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาดำเนินการแก้ปัญหา เริ่มจากบริษัทปูนซิเมนต์ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เสนอตัวมากำจัดให้ในราคา 300 ล้านบาท , บริษัทอีโก้เวิร์ด จก.เสนอตัว เข้ามาดำเนินการทำให้น้ำเสียใส ด้วยการใช้สารเคมีบำบัด โดยสูบน้ำขึ้นมาบำบัดให้สะอาด จนหมด พร้อมทั้งขุดดินและตะกอนมาทำให้สะอาด ด้วยงบ 30 ล้านบาทภายใน 6 เดือน แต่ก็ผู้ประกอบการไม่รับข้อเสนอดังกล่าว

โดยเสนอให้ บ.สยามเว้สต์เซอวิส จก. เข้ามาดำเนินการ เพราะเป็นกลุ่มบริษัทเดียวกัน ด้วยวิธีการฉีดสารเคมี เพื่อลดกลิ่น นำดินมาถมเพื่อทำคันแบ่งพื้นที่เป็นบ่อเล็ก เพื่อบำบัดที่ละบ่อ ให้น้ำสะอาด พร้อมทั้งนำดินที่ปนเปื้อนสารพิษมาบำบัดด้วย ภายในเวลา 2 เดือน  ซึ่งชาวบ้านกังวัลใจว่า การถมดินดังกล่าวจะเป็นการถมบ่อ และมีการบำบัดเพียงน้ำที่เหลือเท่านั้น จึงไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้

ส่วน นางประนอม พุฒใจดี แกนนำชาวบ้านอีกคน บอกอีกว่า หากการดำเนินการแก้ปัญหา ไม่เป็นไปตามที่มีการระบุไว้ ชาวบ้านจะรวมตัวเพื่อต่อต้านให้ถึงที่สุด เนื่องจากคนที่รับกรรมและอยู่ในพื้นที่คือ ชาวบ้าน คนที่มาทำเสร็จแล้วก็ไปอยู่ที่อื่น ไม่ได้มาอยู่กับพวกเราตลอดชีวิต ชั่วลูกชั่วหลาน

"ตอนนี้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ มีการตรวจพบสารฟีนอล เกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ในบ่อน้ำตื้น สำหรับกินและใช้ ลึก 8-10 เมตร จนสำนักงานสาธารณสุขประกาศแจ้งให้หลีกเลี่ยงการใช้น้ำ คนที่ใช้แล้วแพ้ เพราะไม่มีทางเลือก ก็มีผื่นคันขึ้นตามต้ว น้ำจะกินต้องไปเอารับน้ำจากจุดที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลนำรถมาแจกเป็นจุด ๆ 3จุด ก็ยากลำบากอยู่แล้ว หากจะแก้ปัญหาที่จะเป็นผลกระทบต่อชาวบ้านในอนาคตอีก จะให้ชาวบ้านยอมได้อย่างไร " นางประนอมกล่าวและว่า อยากรู้กลางคืนต้องมาลองนอนที่นี่ซักคืน  จะเหม็นมากจนนอนไม่ได้ จนต้องตื่นขึ้นมา เมื่อต้องเป็นอย่างนี้ทำให้ชาวบ้านเกิดความเครียด ทำมาหากิน ประกอบอาชีพสะดุดไปหมด

ด้านพระท๊อป  พระลูกวัดเขาสุวรรณคีรี  เดินทางมาตรวจสอบข้อมูลแทนเจ้าอาวาส ในฐานะวัดที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า  ปัญหาของคนพื้นที่รวมทั้งพระคือ ผลจากการนำน้ำในแหล่งต่าง ๆ โดยเฉพาะบ่อน้ำตื้นที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภคไปใช้ไม่ได้ มีสารโลหะหนักต่าง ๆ เช่น ปรอท ฟีนอล  สูงกว่ามาตรฐาน 20-30 เท่า  ทำให้ระบบน้ำใช้ของวัดต้องปรับเปลี่ยนทั้งหมด จะใช้น้ำบ่อเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว  แม้วัดจะอยู่ห่างจากจุดต่าง ๆ 4-5 กม.ก็ตาม  เนื่องจากผลข้างเคียงเกิดกับเจ้าอาวาสวัดแล้ว เนื่องจากเดิมท่านป่วยอยู่แล้ว เมื่อสูดดมกลิ่นเหม็นรุนแรง ทำให้อาการท่านหนักขึ้น  จำเป็นต้องไปนอนที่โรงพยาบาล ส่วนน้ำดื่มคงไม่สามารถดื่มน้ำบ่อได้อีกแล้ว เพราะจากข้อมูลที่ชาวบ้านและวัดเห็นรวมกัน พบว่า มีโรงงานทิ้งลักลอบของเสียลงแหล่งน้ำมาก่อนหน้านี้ติดต่อกันกว่า 7 ปี

   สำหรับการนำน้ำเสียในพื้นที่ไปตรวจสอบหาสารเคมีอันตราย ที่ บ.เทสท์เทค จก. ในช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่า มีปริมาณสารฟีนอล (Phenol) 29.14 mg/L เกินจากค่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ต้องต่ำกว่า 1.0 mg/L เมื่อสัมผัสจะกัดผิวหนังและซึมเข้าสู่กระแสเลือด เป็นสารก่อมะเร็ง , สังกะสี (Zinc) 31.16 mg/L เกินจากค่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ต้องต่ำกว่า 5.0 mg/L ,ทองแดง (Copper) 3.53 mg/L เกินจากค่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ต้องต่ำกว่า 2 mg/L  ,โกรเนียม (Chromium) 1.66 mg/L เกินจากค่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ต้องต่ำกว่า 0.75 mg/L เป็นสารก่อมะเร็ง(ปอด) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภายหลังตรวจพบสารก่อมะเร็งในแหล่งน้ำ นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้นำน้ำอุปโภคไปบริการแก่ประชาชน 3 จุด พร้อมทั้งแจกจ่ายหน้ากากอนามัย 10,000 ชิ้น และประสานให้มีการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพประชาชน โดยมีตัวเลข ประชาชนป่วย ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ 2 แห่ง จำนวน 838 ราย ส่วนใหญ่มีอาการระบบทางเดินหายใจ แสบคอ หายใจติดขัด แสบจมูก มีผดผื่นคันตามผิวหนัง นอกจากนี้ยังสุ่มเก็บตัวอย่างปัสสาวะของชาวบ้านหมู่ที่ 7 จำนวน 140 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาแมงกานีส ตะกั่วและสังกะสี รวมทั้งตรวจเลือดเพื่อหาโครเมียม นิกเกิ้ล สารปรอท สารฟีนอล ส่งไปยังสำนักโรคประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรคติดต่อ เพื่อตรวจวิเคราะห์ ซึ่งยังไม่ทราบผล


คพ.เตรียมตรวจสอบน้ำผิวดินรัศมี 5 กม.รอบจุดปัญหา 


   นายวรศาสตร์ อภัยพงษ์  รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า กรมควบคุมมลพิษได้ยืนยันจุดยืนว่า ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการแก้ปัญหาด้วยวิธีการนำดินลงไปถมแบ่งเป็นบ่อย่อย ๆ เพื่อบำบัดที่ละบ่อ เพราะเป็นการนำดินไปปนเปื้อนเพิ่มขึ้น  แต่ขั้นตอนดังกล่าวกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแลกำกับและเห็นชอบให้ดำเนินการได้ หน่วยงานที่กำกับดูแลก็ต้องรับผิดชอบกับมาตรฐานที่อนุมัติให้ทำ วิธีการจะถูกต้อง ผิดหรือถูก คำตอบมีอยู่แล้ว สำหรับกรมควบคุมมลพิษ จะทำความเห็นเสนอภายหลังเก็บข้อมูลตามกฏหมาย หากตรวจสอบแล้ว สิ่งแวดล้อมไม่ดีขึ้น ก็จะส่งความเห็นไปที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อตัดสินพิจารณาอีกครั้ง หากพบส่วนราชการทำไม่ถูกต้องอย่างก็ ก็สามารถสั่งการให้แก้ไขได้  นอกจากนั้นประชาชนสามารถฟ้องร้องหน่วยงานราชการได้ด้วยเช่นกัน หากการอนุมัติให้ทำส่งผลเสียต่อคนในพื้นที่

" เราสามารถตรวจสอบได้ตามกฏหมาย หากพบว่า ดินหรือน้ำไม่ปลอดภัย ก็จะส่งเรื่องเข้าไปพิจารณาตามกระบวนการ ยืนยันว่า กรมควบคุมมลพิษ จะไม่ทิ้งเรื่องนี้จนกว่าจะแก้ปัญหาได้ โดยในวันที่ 11 กย.นี้จะเริ่มกระบวนการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการตรวจสอบ โดยเริ่มจากน้ำผิวดินในรัศมี 5 กม.รอบจุดที่พบปัญหาการทิ้งกากอุตสาหกรรม และร่วมตรวจสอบตามกระบวนการอื่นไปพร้อม ๆ กันด้วย" นายวรศาสตร์ กล่าว

ด้านนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว่า กรมดูแลปัญหาตาม พรบ.สิ่งแวดล้อม หากสิ่งแวดล้อมปนเปื้อน ได้รับผลกระทบ เราสามารถดำเนินการตรวจสอบ ควบคุมไม่ให้สิ่งแวดล้อมแพร่กระจายได้  แต่หากการปฏิบัติไม่ได้มาตรฐาน คงจะไม่ยินยอมให้มีการขนย้ายดินหรือน้ำที่ปนเปื้อนไปยังพื้นที่อื่นรอบนอกอีก  ทางกรมจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจว่า มีอะไรมาปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมบ้าง ดูเรื่องดิน  น้ำที่แอบทิ้งลงแหล่งน้ำสาธารณะตามที่ประชาชนแจ้ง ปนเปื้อนชั้นดินไหนหรือไม่ อากาศหรือแก๊สในพื้นที่ ซึ่งก็เหม็นจริง จากผมตรวจที่เราทราบ คือพบสารฟีนอลเกินมาตรฐาน จะต้องมีการเก็บตัวอย่างให้ครอบคลุมรัศมีทั้งพื้นที่ เพื่อพิจารณาว่า จะต้องประกาศเป็นเขตมลพิษหรือไม่

"ความเห็นของกรมควบคุมมลพิษคือ เราไม่เห็นด้วยกับวิธีการเอาดินลงไปถมเพื่อแบ่งบ่อแล้วค่อยบำบัด มีวิธีการอื่นที่ดีกว่านี้ อยู่ดี ๆ เอาดินไปปนเปื้อนอีกแล้ว เป็นข้อห่วงใยของทุกฝ่ายว่า การถมไปถมมาก็จะกลายเป็นถมทั้งพื้นที่ ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะนำไปเสนอผู้ว่าฯ ด้วย ซึ่งหลังจากบำบัดแล้ว น้ำจะนำไปทิ้งต้องได้มาตรฐาน  ตะกอนที่ตกลงไปก้นบ่อจะต้องถูกบำบัด  ดินรอบ ๆ ขอบบ่อ ใต้พื้นข้างล่างต้องจัดการให้สะอาด รวมทั้งดินที่เอาไปถมใหม่ต้องจัดการให้สะอาดก่อนจะเอาออกไปพื้นที่อื่น  หลังจากนี้จะทำความเห็นส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรมด้วย " นายวิเชียรกล่าว

กรมโรงงานฯ ให้บำบัดตามมาตรฐาน

นายไสว โรจนะศุภฤกษ์ หน.สำนักกำจัดกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม  กล่าวว่า ทางเราในฐานะหน่วยงานที่ดูแล ได้เข้าพบชาวบ้าน และยินดีทุ่มเทจะทำงานแก้ปัญหานี้ให้ได้ โดยได้เรียกบริษัทที่จะเข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาซึ่งรับงานจาก บริษัทเคเอสดีฯ บริษัทต้นเหตุนำสารพิษมาทิ้ง ให้มาสาธิตวิธีการ รวมทั้งเสนอแผนการจัดการ  โดยจะให้ดำเนินการทีละบ่อ หลังจากน้ำเสียจากสารพิษตกตะกอน ก็จะสูบออก และลอกตะกอนออก เพื่อรองรับน้ำที่บำบัดมาจากบ่อใกล้เคียง ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องให้บริษัทนี้ออกไป แล้วเอารายใหม่มาทำ

"ถ้ารอให้มีการสร้างคันดินจนเสร็จ ชาวบ้านก็รอไม่ไหว เพราะกลิ่นเหม็นมาก เมื่อทำคันดินบ่อแรกแล้ว ก้ต้องดำเนินการบำบัดควบคู่ไปเลย และเมื่อบำบัดน้ำเสร็จทั้งหมด คันดินก็ต้องดำเนินการให้กลับเป็นบ่อเหมือนเดิม เมื่อแก้ไขจนไม่เป็นอันตราย ทางผู้ประกอบการจะเอาไปถมที่ไหนก็แล้วแต่ ทางกรมได้กำหนดให้ผู้รับเหมาเข้ามารับบำบัด จะต้องดำเนินการตามหลักเกณ์ที่เรากำหนดให้ได้มาตรฐาน ซึ่งอยากให้กรมควบคุมมลพิษ มาร่วมตรวจสอบด้วย

บริษัทรับบำบัดชี้แจงจำเป็นต้องแบ่งซอยบ่อให้ทำงานง่าย

นางวีระวรรณ สายสุวรรณ กรรมการ ผจก.บ.สยามเวสต์เซอวิส จก. ชี้แจงว่า บริษัทเข้ามารับจ้างกำจัดสารน้ำเสียในพื้นที่ ม.7 ต.หนองแหน  ซึ่งเป็นลักษณะบ่อขนาดใหญ่เนื้อที่มากกว่า 9 ไร่ ซึ่งเท่าที่คำนวนปริมาณน้ำที่ต้องบำบัดมีปริมาณกว่า 30000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งต้องใช้สารจากแร่ภูเขาไฟ ประมาณ 1 กก./น้ำเสีย 1 ลบ.ม. ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้ตกตะกอนและดูซับกลิ่น เมื่อเป็นน้ำใส จะต้องนำมาตรวจวิเคราะห์ หากผ่านการทดสอบ ก็จะสูบออกไป ส่วนสาเหตุที่ต้องนำดินมาถมทำคัน เพื่อแบ่งเป็นบ่อเล็ก เพื่อสะดวกในการทำงาน เนื่องจากไม่สามารถทำได้ทีเดียวในบ่อใหญ่ ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ง่าย

นางวีระวรรณ กล่าวอีกว่า ภัยหลังจากสูบน้ำที่บำบัดออกแล้ว จะทำความสะอาดบ่อ เพื่อทำในบ่อต่อๆไป เพื่อสูบน้ำที่บำบัดแล้วมาใส่ ก่อนสูบออกไป สำหรับดินที่นำมาถมลงในบ่อเพื่อทำคันดินนั้น จะมีการตรวจสอบว่า มีการตกค้างหรือมีสารพิษหรือไม่ หากพบเกินกว่ามาตรฐาน ก็จะต้องนำไปบำบัดหรือทำลายตามวิธีการต่อไป  โดยยืนยันว่า จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ตามแผนที่เสนอกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ขัดข้อง ก็สามารถขยายเวลาออกไปได้  ซึ่งปัญหาล่าช้าก่อนหน้านี้เพราะมีหนังสือจากจังหวัดให้มีการระงับ ขณะนี้ได้รับคำสั่งให้ดำเนินการต่อไปได้แล้ว  ที่ผ่านมามีการหยุดหลายครั้ง อันเนื่องมาจากมีการเดินทางเข้ามาตรวจสอบ  ซึ่งต่อไปจะให้มีการแจ้งผ่านมาทาง อบต.เพื่อไม่ให้มีผลกับการดำเนินงาน  โดยแผนการทำงานของบริษัททั้งหมดจะส่งผ่าน อบต.และสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา

นอกจากนั้น บ.สยามเวสต์เซอวิส จก. ได้ทดสอบด้วยการนำสารเคมีและน้ำตัวอย่างจากบ่อกากสารเคมีต่าง ๆ มาสาธิตให้ชาวบ้านกว่า 100 คน ดูวิธีการทำงาน ซึ่งหลังจากนำน้ำสีดำจากบ่อปัญหามาเทสารเคมีซึ่งบริษัทอ้างว่า เป็นสารจากแร่ภูเขาไฟ ผสมในน้ำเสียสักพัก ก็มีการตกตะกอน จากน้ำสีดำกลายเป็นสีใสขึ้นลักษณะเหมือนน้ำขุ่นทั่วไป  โดยจะมีการดำเนินการบำบัดในบ่อแรกที่มีการกั้นแล้วเสร็จก่อนตั้งแต่วันที่ 7 กย.นี้เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา นี้ มีการตรวจสอบพบว่ามีการแอบลักลอบนำกากอุตสาหกรรม และสารเคมี มาทิ้งอย่างไม่ถูกต้อง จำนวน 11 จุด โดยมีผู้ประกอบการที่กระทำความผิดจำนวน 7 ราย  อยู่ระหว่างถูกส่งฟ้องในคดีอาญา โดยบริษัทที่รับดำเนินการกำจัดของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีการอนุญาตผู้ประกอบการลักษณะดัวกล่าวทั่วประเทศมีมากกว่า 400 ราย...


Tags : ธนภัท กิจจาโกศล

ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ :
www.bangkokbiznews.com



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น