วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

มัจจุราชเงียบ...เสียบหูฟัง


ได้ยินและเห็นภาพข่าวเกี่ยวกับอันตรายขณะใช้หูฟังอยู่หลายต่อหลายครั้ง ล่าสุดกรณีสาวนักศึกษาที่ถูกรถไฟเกี่ยวร่างเข้าไปติดอยู่ใต้ราง เนื่องจากใช้หูฟังขณะเดินจนไม่ได้ยินเสียงหวูดเตือน ถ้าเหตุการณ์สะเทือนขวัญเช่นนี้ไม่เกิดขึ้นให้สะกิดใจ หลายคนคงมองข้ามและคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว โดยไม่ยั้งคิดเลยว่าตัวเองอาจกำลังตกเป็นเหยื่อ ภัยเงียบ!...หูฟัง
       
       หูฟัง...อันตรายถึงชีวิต
       ความไม่ปลอดภัยของการใช้หูฟังในชีวิตประจำวัน รวมถึงเพื่อนร่วมทาง ไม่ว่าจะเป็นการขับรถ การโดยสารรถประจำทาง หรือเดินตามท้องถนน ขณะที่ใส่หูฟัง สมาธิกำลังจดจ่ออยู่กับเสียงที่ดังก้องอยู่ในหู ทำให้ขาดสติและหลงลืมไปชั่วครู่ว่าตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่ หรือกำลังตกเป็นที่เพ่งเล็งของผู้ร้ายโดยที่เราไม่รู้ตัว จนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตอย่างคาดคิดไม่ถึง
       
       บางคนใส่หูฟังตลอดเวลา ตัดตัวเองออกจากโลกภายนอกโดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ฟังเพลงบ้าง คุยโทรศัทพ์บ้าง หรือแม้กระทั่งเล่นเกม สมาธิจดจ่ออยู่กับเสียงที่ดังออกมาและอุปกรณ์ที่อยู่ในมือ จนบางคนเกือบจะตกรถเมล์ หรือรถไฟฟ้า ถ้ากระทบเพียงเท่านี้ อย่างมากก็แค่เสียเวลา แต่เราอาจไม่ได้โชคดีอย่างนี้เสมอไป
       
       มีหลายกรณีที่ใส่หูฟังเดินข้ามถนนและโดนรถชน เพราะไม่ได้ยินเสียงรถหรือเสียงบีบแตร การขึ้นรถ ลงเรือ หรืออยู่ในสถานที่สาธารณะที่มีการจราจรคับคั่ง จึงมีการเตือนอยู่เสมอว่าห้ามใช้โทรศัพท์มือถือหรือหูฟังในขณะขึ้นลงรถประจำทาง รวมถึงผู้ทำงานในขณะควบคุมเครื่องจักรด้วย ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดเหตุพลาดพลั้งขึ้นได้
       
       ยิ่งแย่ไปกว่านั้น การอยู่กับตัวเองโดยไม่สนใจสิ่งรอบตัว จึงตกเป็นเป้าหมายของพวกแก๊งมิจฉาชีพ คนเป็นเหยื่ออาจไม่ทันระวังตัวว่ากำลังโดนจับสังเกตอยู่ ในขณะที่โจรหรือมิจฉาชีพกำลังจะใช้โอกาสนี้เพื่อลักทรัพย์ จี้ ปล้น ล่วงละเมิดทางเพศ และจุดจบที่โหดร้ายที่สุดคือการถูกฆ่า เพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตามแต่ การเลือกคนที่ไม่ทันระวังตัว จึงสามารถลงมือกระทำการณ์ต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย
       
       ผู้ร้ายข่มขืนรายหนึ่งเคยให้การกับตำรวจว่า “เห็นน้องเขาใส่หูฟังเดินเข้าไปในซอยกลางดึก จึงฉุดมาข่มขืน” ซึ่งถ้าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวเราเองหรือญาติพี่น้อง ก็คงไม่ใช่แค่เรื่องเล็กๆ อย่างตกรถอีกต่อไป
       
       เด็กไทยหูตึงก่อนวัย
       เมื่อใส่หูฟังติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ย่อมมีผลต่อระบบปราสาทการได้ยิน จึงอาจทำให้หูตึง จนถึงขั้นหูหนวกได้ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่มีการใช้หูฟังเป็นจำนวนมาก เนื่องจากหูคนเรานั้นมีความอดทนต่อเสียงในขอบเขตที่จำกัด
       
       มีหลายสาเหตุจากพฤติกรรมของเราเองที่ทำให้หูย่ำแย่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้หูฟังฟังเพลงติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง การเปิดเพลงดังๆ ในห้อง การใช้สมอลทอล์กคุยโทรศัพท์ เมื่อทำกิจกรรมเหล่านี้เป็นประจำจึงมีโอกาสหูตึงมากกว่าคนไม่ใช้ และการใช้หูฟังในที่สาธารณะ หรือสถานที่ที่มีเสียงดังมากๆ ต้องเปิดเสียงให้ดังกว่าอาจมากถึง 105 เดซิเบล ขณะที่โดยปกติหูคนเราสามารถรับเสียงได้ไม่เกิน 85 เดซิเบลเท่านั้น จึงส่งผลให้อนาคตหูอาจไม่ได้ยินเสียงพูดในระดับปกติ
       
       นพ.กำจัด รามกุล ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การฟังเสียงจากหูฟังขณะอยู่ในบ้านไม่ควรเร่งความดังเกิน 60% ถ้าฟังติดต่อกันนาน 1 ชั่วโมงควรพัก โดยเฉพาะคนท้องการฟังเสียงที่ดังมากเกินไป หรือการใช้หูฟังติดต่อกันเป็นเวลานานจะมีผลกระทบต่อลูกในครรภ์ จึงไม่ควรฟังเกิน 30 นาที
       
       หูฟังที่ใช้อยู่ปัจจุบันมี 3 ประเภท คือ 1.In-Ear หรือ Ear -Plug แบบใส่เข้าไปในหู 2.แบบแปะหรือสวมแนบพอดีหู และ 3.แบบครอบที่ใบหู แต่ที่นิยมใช้มากที่สุดคือแบบ In-Ear เพราะได้ยินเสียงดังชัดเจน เสียงภายนอกแทรกเข้าไปยาก แต่ข้อดีที่ว่านี้กลับมีผลกระทบต่อประสาทการได้ยินมากกว่าการใช้หูฟังชนิดอื่น เนื่องจากตัวลำโพงหูฟังจะอยู่ใกล้กับประสาทรับเสียงในหูมากที่สุด โดยเฉพาะการฟังเพลงของวัยรุ่นประเภทที่มีเสียงดนตรีหนักๆ อย่างเสียงเบสกระแทกหู หากฟังเสียงดังเกินไปมากกว่าเสียงปกติที่คนเรารับได้ จึงมีผลต่อระบบประสาทหูโดยตรง
       
       พระราชดำรัสในหลวง เคยกล่าวถึงเรื่องหูตึงจากการฟังของเด็กไทยว่า “...ไปฟังเพลงที่ไม่ได้เพลงอะไรดี เป็นเพลงที่ไม่ได้เรื่องทำให้หูเสีย หูเสียไม่ใช่ว่าคนที่ฟังหูสูง หูต่ำ แต่หูไม่ได้ยิน หูตึงคนที่ไปฟังในดิสโก้เธคหูตึงทั้งนั้น ถ้าใครเป็นหมอหูไปตรวจเขายืนยันว่าเด็กสมัยนี้หูเสียมากกว่าเด็กสมัยก่อน”
       “ในดิสโก้เธคบางแห่งวัดระดับเสียงได้ถึง 120 เดซิเบล ซึ่งจริงๆ แล้วเสียงที่มีความดังเกิน 110 เดซิเบล ฟังแค่นาทีเดียวก็มีผลต่อเซลล์ประสาทหูแล้ว” ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข กล่าว
       
       สารพัดโรคถามหา
       การได้ยินเสียงวิ้งในหู นั่นคือสัญญาณเตือนของอาการหูตึง หูหนวกตามมา แต่ที่น่าเป็นห่วงในคนที่ฟังเสียงดังเกินขนาดนั้น ยังมีผลทำให้เกิดอาการปอดแฟบ แน่นหน้าอก และหายใจไม่ออกอีกด้วย
       
       นพ.กำจัด รามกุล กล่าวถึง อาการหูอื้อที่พบในระยะแรก บางครั้งได้ยินเสียงวิ้งๆ ในหู ทั้งที่ถอดหูฟังออกแล้ว แสดงว่าเซลล์ประสาทได้รับการกระทบกระเทือนจากเสียง ถ้าหากเป็นน้อยต้องพักหูก่อน โดยใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อให้หูสามารถกลับมารับฟังเสียงได้เหมือนเดิม แต่ถ้าเป็นมากการฟังเสียงพูดในระดับปกติก็จะไม่ค่อยได้ยิน และถ้าถึงขนาดตะโกนคุยกัน แสดงว่ามีอาการหูตึงเกิดขึ้น
       
       ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากสำหรับคนที่ฟังเสียงดังเกินขนาดเป็นประจำ ไม่ได้มีผลกระทบเพียงแค่เกิดอาการหูอื้อ หรือหูตึงเท่านั้น เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้เลยทีเดียว นพ.กำจัด เล่าให้ฟังต่อว่า “ในประเทศเบลเยี่ยม มีรายงานผู้ป่วยรายหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการสัมผัสเสียงดังมากเกินไป จนทำให้ถุงลมในปอดแตก มีผลทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอกและหายใจไม่ออก เนื่องจากปอดแฟบจนเนื้อปอดไม่สามารถขยายได้ จึงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่เมืองไทยยังไม่มีผู้ป่วยเคสแบบนี้ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน”
       
       นอกจากนี้ปัญหาของการฟังเสียงที่ดังเกินขนาดยังทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นไม่ปกติ ซึ่งขณะนี้คนทั่วโลกกำลังประสบปัญหานี้นับล้านคน
       
       ผลกระทบจากการใช้หูฟังผิดที่ผิดเวลา นอกจากจะเป็นอันตรายต่อเราและคนรอบข้างแล้ว รู้ไหมว่าเทคโนโลยีต่างๆ ที่เราใช้กันอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ไอแพด แท็บเล็ต ฯลฯ ถือเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกสบายที่สามารถหยิบฉวยขึ้นมาใช้ มาแชตเมื่อไหร่ก็ได้ จนบางคนไม่มีลิมิตในการใช้ อาจพูดได้ว่าเป็นอวัยวะสำคัญอีกชิ้นหนึ่งไปเสียแล้ว
       
       เมื่อการใช้เทคโนโลยีในโลกยุคดิจิตอลได้แทรกเข้าไปอยู่ในทุกกิจวัตร จึงทำให้คนสนใจสิ่งรอบข้างลดลง เพราะมัวแต่แชตและเพ่งสมาธิอยู่กับเรื่องราวข่าวสารในมือ ยิ่งถ้าใช้ขณะอยู่บนท้องถนนด้วยแล้วก็ยิ่งเป็นอันตรายมากไม่ต่างจากการใส่หูฟัง
       
       ไม่ว่าจะเป็นหูฟัง หรือเทคโนโลยีใดก็ตาม ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอันตรายและก่อเกิดโทษแก่ผู้ใช้ ถ้ามีการใช้อย่างถูกต้อง และใช้อย่างพอดี...




ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th : 13 มิถุนายน 2555 18:02 น.




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น