วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แนวทางปฏิบัติ ในคดีข่มขืน



   ไม่แน่ว่าเรื่องนี้อาจเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวเรา และหากเราเกิดโชคร้ายต้องพบกับเรื่องแบบนี้ เราจะทำอะไรได้บ้าง ศึกษาไว้ไม่เสียหายค่ะ... 


การช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นก่อนตัดสินใจดำเนินคดี 


          ๐ ในระหว่างเกิดเหตุควรพยายามตั้งสติให้ได้ หากไม่มีทางเลือก ที่ดีไปกว่าการรักษาชีวิตไว้ก่อนแล้ว จำเป็นต้องโอนอ่อนผ่อนตาม ก็ควรจะยอมไปก่อน เพื่อหาทางหลบหนีเอาตัวรอดเมื่อมีโอกาส 
พยายามหาทางออกจากจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด (โดยเฉพาะกรณีที่ถูกขัง) เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ต่อเนื่องต่อไป  
          ๐ เมื่อออกจากจุดเกิดเหตุสิ่งแรกที่ควรทำคือ หาผู้ช่วยเหลือที่ ใกล้ชิดที่สุด โดยเฉพาะถ้าคิดว่าตนเองไม่อาจทำอะไรต่อไปได้เอง เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือมีอาการบาดเจ็บมาก  
          ๐ รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาบาดแผล, ตรวจเชื้อกามโรค, โรค เอดส์, ป้องกันการตั้งครรภ์ และเพื่อตรวจหาหลักฐาน เช่น น้ำเชื้ออสุจิ, ร่องรอยการร่วมประเวณี, ขน, ผม, เป็นต้น รวมทั้งการหาสารประเภทยานอนหลับ หรือแอลกอฮอล์ในร่างกายสำหรับรายที่ถูกวางยาหรือมอมเหล้า เบียร์ ดังนั้นเพื่อให้ได้ประโยชน์ในการเก็บพิสูจน์หลักฐาน จึงไม่ควรเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ หรือชำระล้างสิ่งใด ๆ จากร่างกายก่อนพบแพทย์  
          ๐ รีบแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที เพราะยังสามารถบอก รูปร่างหน้าตา จดจำลักษณะของผู้กระทำผิด ในกรณีเป็นคนแปลกหน้า เพื่อจะจับตัวผู้กระทำผิดให้ได้เร็วก่อนจะหลบหนีไป และต้องแจ้งความ ณ สถานีตำรวจซึ่งอยู่ในท้องที่เกิดเหตุ และจดจำชื่อ-ที่อยู่ของพยานในเกตุการณ์ให้ได้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ในการติดตามมาเป็นพยานและในการดำเนินคดี 




การร้องเรียนทางวินัย 
          ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดรับราชการ ลูกจ้างประจำ หรือเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ อาจารย์มหาวิทยาลัย กิจการเอกชนต่าง ๆ รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ที่มีองค์กรดูแลควบคุมจรรยาบรรณ เช่น แพทย์สภา, สภาทนายความ, ทันตสภา, วิศวกรสภา เป็นต้น ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนต่อหน่วยงานเหล่านี้ได้ ซึ่งอาจจะมีผลให้ต้องไล่ออก, ปลดออก, ลดขั้นเงินเดือน, ตัดเงินเดือน หรือภาคทัณฑ์ความประพฤติไว้  
          เพราะนอกจากจะเป็นการลงโทษผู้กระทำความผิดได้ทางหนึ่งแล้ว ยังเป็นประโยชน์ในด้านพยานหลักฐานต่าง ๆ เมื่อผู้เสียหายนำคดีขึ้นสู่ศาล หรือแม้ในชั้นศาล พยานหลักฐานจะอ่อนจนไม่อาจลงโทษผู้กระทำผิดได้ เช่น คดีขาดอายุความ มีการถอนคำร้องทุกข์ยอมรับค่าเสียหาย การข่มขืนผู้เสียหายจริง จะมีผลในด้านความก้าวหน้าของหน้าที่การงาน ของผู้กระทำผิดได้ทางหนึ่ง




การแจ้งความร้องทุกข์ 
          นอกจากจะมีการลงบันทึกประจำวันแล้ว สำหรับกรณีที่รู้ตัวผู้กระทำผิด ผู้เสียหายจะต้องระบุตัวผู้กระทำผิด ว่าต้องการให้เอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษด้วย มิใช่แจ้งไว้เพื่อมิให้คดีขาดอายุความ หรือแจ้งไว้เป็นหลักฐาน จะไปตกลงค่าเสียหายกันก่อน เพราะเท่ากับยังไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ และควรขอคัดลอกบันทึกประจำวันการแจ้งความไว้ด้วย เพื่อป้องกันได้ว่ามีการลงบันทึกประวันจำไว้จริง
          ในกรณีที่เป็นผู้เยาว์ คือ อายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องให้พ่อหรือแม่เป็นผู้พาไป ถ้าพ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียน ต้องให้แม่เป็นผู้พาไป ถ้าเด็ก ๆ ไม่มีพ่อแม่ต้องให้ญาติพาไป




อายุความ 
          สำหรับคดีที่ผู้ถูกข่มขืนอายุเกิน 15 ปี จะต้องมีการแจ้งความหรือฟ้องคดีภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันเกิดเหตุ มิฉะนั้นจะถือว่าคดีขาดอายุความ
          กรณีต่อไปนี้ ไม่อยู่ในอายุความ 3 เดือน สามารถแจ้งความได้แม้เกิน 3 เดือน 
          - ผู้ถูกข่มขืน ได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือตาย  
          - ผู้ข่มขืนมีมากกว่า 2 คน อันเป็นการโทรมหญิง  
          - มีอาวุธปืน ใช้ขู่บังคับ หรือแสดงให้เห็นในขณะกระทำความผิด  
          - ผู้ข่มขืนเป็นพ่อ ปู่ ตา ทวด หรือ ครูอาจารย์ 
          อย่างไรก็ตามสำหรับรายที่สามารถแจ้งความได้แม้เกิน 3 เดือน แต่อาจจะมีปัญหาในเรื่องของพยานหลักฐานที่หาไม่ได้แล้ว หรือการจดจำพยานหลักฐานต่าง ๆ เช่น วันเวลาที่เกิดเหตุ หรือรูปพรรณสัณฐานคนร้ายในกรณีที่เป็นคนแปลกหน้า ฯลฯ  
          ทางที่ดีที่สุด จึงควรแจ้งความในทันทีที่เกิดเหตุ เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของผู้ถูกข่มขืน และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้


การยอมความ 


          คดีข่มขืนที่ต้องแจ้งความ หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน เป็นคดีที่สามารถตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ ซึ่งการยอมความนั้นจะมีบันทึกหรือเป็นหนังสือหรือไม่ก็ได้ ฉะนั้นการที่จะตกลงรับเงินชดใช้ค่าเสียหายและมีพยานบุคคลเห็น ก็ถือว่าเป็นการยอมความแล้ว ไม่สามารถจะเปลี่ยนใจภายหลังได้อีก จึงต้องคิดให้รอบคอบเพราะค่าเสียหายเพียงน้อยนิดก็ถือว่าเป็นการยอมความแล้ว  
          ทางที่ดีเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาในภายหลัง จึงควรไปตกลงต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ และรับค่าเสียหายก่อนทำบันทึกตกลงยอมความ หากยังไม่ได้เงินค่าเสียหายครบถ้วนที่ตกลงกันไว้ ไม่ควรทำบันทึกไว้ก่อน เพราะในคดีข่มขืน แม้ผู้เสียหายไม่ตกลงยอมความ ผู้เสียหายก็ยังมีสิทธิที่จะได้รับชดใช้ค่าเสียหาย โดยฟ้องเรียกในทางแพ่ง ได้อยู่แล้ว  
          ในกรณีที่ผู้เสียหายอายุไม่เกิน 15 ปีและยินยอมให้กระทำชำเราโดยความเต็มใจ เช่น การหนีตามผู้ชาย หรือหลงเชื่อว่าผู้ชายจะพาไปอยู่กินฉันผัวเมีย หากพ่อแม่ไปพบและเอาตัวเด็กผู้หญิงกลับมาบ้าน และแจ้งความดำเนินคดีกับชายที่มาหลอกลูกสาวไป ในข้อหากระทำชำเราโดยเด็กหญิงยินยอม และข้อหาพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร แม้จะมีช่องทางช่วยเหลือฝ่ายชาย ให้ไม่ต้องโทษในคดีอาญา โดยการร้องขอต่อศาลคดีเด็กและเยาวชน ขอจดทะเบียนสมรส ถ้าหากเด็กอนุญาต ฝ่ายชายสามารถนำทะเบียนสมรสมาแสดงต่อศาลอาญาจะทำให้ไม่ต้องถูกลงโทษในคดีกระทำชำเราได้ ส่วนข้อหาพรากผู้เยาว์ในกรณีที่ได้ความว่า ฝ่ายชายไม่มีภริยามาก่อน ศาลมักจะใช้ดุลพินิจในการรอการลงโทษ เป็นการช่วยให้ฝ่ายชายไม่ต้องรับโทษในการพาเด็กหญิงหนีตาม  
          ดังนั้นหากพ่อแม่ฝ่ายหญิงเห็นตั้งแต่แรกแล้วว่า ฝ่ายชายไม่ได้จริงใจในการจะรับผิดชอบเด็กหญิง แต่ทำไปเพื่อให้หลุดพ้นจากคดีอาญาไปก่อน แล้วค่อยหาทางเลิกกับเด็กในภายหลัง และตัวเด็กหญิงเองก็ยังอยู่ในวัยต้องศึกษาเล่าเรียน เพื่อหาความรู้ในการประกอบอาชีพของตัวเองในวันข้างหน้า ทั้งยังด้อยวุฒิภาวะในการที่มีครอบครัวในขณะนั้น แม้จะมีกฎหมายเปิดช่องให้ฝ่ายชายทำเช่นนั้นได้ก็ตาม พ่อแม่ก็สามารถที่จะคัดค้านแถลงต่อศาลที่ฝ่ายชายไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสที่ศาลเด็กได้ รวมทั้งแถลงต่อศาลในคดีอาญาว่าประสงค์จะให้ฝ่ายชายได้รับการลงโทษ เพื่อให้การคุ้มครองแก่เด็กหญิง ซึ่งยังไม่มีวุฒิภาวะ พอปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2879/2540 ที่มีความเห็นออกมาคุ้มครองเด็กหญิง  
          หากยังมีข้อสงสัยหรือต้องการความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ติดต่อไปที่ คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 2822690, 2825296 


ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น